ชนิดของแบตเตอรี่
แบ่งตามลักษณะการคลายประจุได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่
1. แบตเตอรี่ที่สามารถปล่อยประจุ(กระแส)ไฟฟ้าได้น้อย(Shallow-Cycle Battery) คือแบตเตอรี่ที่ออกแบบมาให้ปล่อยประจุไฟฟ้าได้ประมาณ 10-20 เปอร์เซนต์ของประจุไฟฟ้ารวมก่อนจะทำการชาร์จประจุใหม่ การปล่อยประจุไฟฟ้าจะมีหน่วยเป็นแอมอาวด์(Ahr) , 100 Ahr หมายถึงแบตเตอรี่สามารถปล่อยประจุกระแสไฟฟ้า 100 หน่วยได้ 1 ชั่วโมง(ในความเป็นจริงไม่สามารถทำอย่างนั้นได้เพราะเมื่อปล่อยประจุจากแบตเตอรี่จนหมด แบตเตอรี่จะเสียทันที) – ตัวอย่างถ้ามีแบตเตอรี่แบบปล่อยประจุได้น้อย(Shallow cycle battery) ที่สามารถปล่อยประจุไฟฟ้าได้ 100 แอมอาวด์อยู่หนึ่งตัว แบตเตอรี่ตัวนี้ควรที่จะปล่อยประจุไฟฟ้า(หรือใช้กระแสไฟฟ้า) ได้เพียง 10-20 แอมอาวด์ หลังจากนั้นจะต้องทำการชาร์จประจุให้เต็มก่อนการคลายประจุครั้งต่อไป ถ้าการปล่อยประจุมากเกินกว่าที่กำหนดไว้ เช่นทำการปล่อยประจุที่ 50 แอมอาวด์ จะทำให้แบตเตอรี่มีอายุการที่ใช้งานที่สั้นลง(เสื่อมเร็ว)อย่างมากเช่นตามสเปคอายุการใช้งานของแบตเตอรี่สามารถชาร์จได้ 3000 ครั้งอาจจะลดเหลือเพียงแค่ 1000 ครั้ง ดังนั้นการออกแบบระบบโดยรวมควรคำนึงถึงลักษณะการปล่อยประจุไฟฟ้าของแบตเตอรี่ด้วย
2. แบตเตอรี่ที่สามารถปล่อยประจุ(กระแส)ไฟฟ้าได้มาก(Deep-Cycle Battery) คือแบตเตอรี่สามารถปล่อยประจุได้ถึง 60-80 เปอร์เซนต์ของประจุรวมก่อนที่จะทำการชาร์จประจุใหม่ ส่วนมากแล้วจะนำมาใช้กับระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าในบ้านพักอาศัย แบตเตอรี่ชนิดนี้จะมีราคาที่สูงกว่าแบบแรกมาก แต่ใช้เพียงไม่กี่ตัวก็สามารถทดแทนประจุไฟฟ้ารวมจากแบตเตอรี่แบบแรกได้ แบตเตอรี่แบบนี้จะมีความคุ้มค่าในระยะยาว
แบ่งตามชนิดได้เป็น 8 ประเภท ได้แก่
1. แบตเตอรี่น้ำ (WET)
แบตเตอรี่น้ำ คือ แบตเตอรี่ชนิดตะกั่วกรดที่ถูกใช้งานในรถยนต์ทั่วไป มีส่วนประกอบภายในคือโลหะผสมระหว่างตะกั่วกับพลวง แบตเตอรี่ชนิดน้ำเป็นประเภทแบตเตอรี่ที่เหมาะสมกับคนที่ใช้งานรถเป็นประจำ มีเวลาในการดูแลรักษารถ เพราะต้องคอยตรวจสอบและเติมน้ำกลั่นให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเสมอ หากละเลยขาดการดูแล แบตเตอรี่ก็จะมีปัญหาและมีอายุการใช้งานที่สั้นกว่าปกติ
ข้อดีของแบตเตอรี่น้ำ
- ราคาถูกเนื่องจากเป็นแบตเตอรี่มาตรฐานที่ถูกใช้งานในรถยนต์ทั่วไป
- มีอายุการใช้งานที่ยาวนานหากมีการดูแลรักษาแบตเตอรี่ที่ถูกต้อง
- มีความทนทานต่อการประจุไฟเกินและคายประจุ
ข้อเสียของแบตเตอรี่น้ำ
- ต้องคอยตรวจเช็กและเติมน้ำกลั่นให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเสมอ
- มีค่าแอมป์และค่า CCA ที่ต่ำกว่าแบตเตอรี่แห้งและแบตเตอรี่ชนิดอื่น ๆ (ในบางรุ่น)
- อาจมีการรั่วไหลของสารละลายภายใน หากเคลื่อนย้ายตัวแบตฯอย่างไม่ถูกต้อง
2. แบตเตอรี่แห้ง (SMF, Sealed Maintenance Free)
แบตเตอรี่แห้งถือเป็นประเภทแบตเตอรี่ที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน เพราะมันเป็นแบตเตอรี่ที่ใช้งานง่าย ดูแลง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ไม่ต้องเติมน้ำกลั่นตลอดอายุการใช้งาน ทำให้เหมาะกับเจ้าของรถที่ไม่มีเวลาในการดูแลรักษา ตอบโจทย์ชีวิตผู้คนในยุคปัจจุบันมากที่สุด แต่ตัวแบตฯมีราคาค่อนข้างสูง แพงกว่าแบตเตอรี่น้ำและแบตเตอรี่กึ่งแห้งในระดับหนึ่ง
ข้อดีของแบตเตอรี่แห้ง
- ไม่ต้องเติมน้ำกลั่น ใช้งานง่าย ดูแลรักษาง่าย
- มีค่าแอมป์และค่า CCA ที่สูงกว่าแบตเตอรี่น้ำ
- มีคุณภาพ ได้รับมาตรฐานเท่ากันทุกลูก เพราะชาร์จไฟและเติมน้ำกรดมาเรียบร้อยจากโรงงานผลิต
ข้อเสียของแบตเตอรี่แห้ง
- มีราคาที่ค่อนข้างสูงกว่าแบตเตอรี่น้ำและแบตเตอรี่กึ่งแห้ง
- อาจเกิดปัญหาเรื่องความชื้นเข้าไปในตัวแบตเตอรี่ หากซีลที่ปิดผนึกรระบายอากาศหลุดออก
- หากรูระบายอากาศของตัวแบตฯเกิดการอุดตัน ก็อาจส่งผลให้เกิดปัญหาแรงดันในตัวแบตเตอรี่ได้
3. แบตเตอรี่กึ่งแห้ง (MF, Maintenance Free)
แบตเตอรี่กึ่งแห้ง หรือ แบตเตอรี่ MF เป็นแบตเตอรี่ที่มีความคล้ายคลึงกับแบตเตอรี่แห้ง แต่มีรูให้สามารถเติมน้ำกลั่นได้เหมือนกับแบตเตอรี่น้ำ มีอายุการใช้งานอยู่ที่ประมาณ 3 ปี ไม่จำเป็นต้องดูแลรักษาบ่อยเหมือนแบตเตอรี่น้ำ แค่หมั่นเติมน้ำกลั่นปีละ 1-2 ครั้งก็เพียงพอแล้ว ถือเป็นอีกหนึ่งประเภทแบตเตอรี่ที่ใช้งานง่าย ราคาไม่สูงมาก และมีขั้นตอนการดูแลรักษาที่ไม่ยุ่งยากจนเกินไป
ข้อดีของแบตเตอรี่กึ่งแห้ง
- ตัวแบตเตอรี่มีการป้องกันการระเหยของน้ำกลั่นภายในเป็นอย่างดี ทำให้ผู้ใช้รถไม่ต้องเสียเวลาเติมน้ำกลั่นบ่อย ๆ
- ความทนทานสูง มีอายุการใช้งานที่ค่อนข้างนานแม้จะน้อยกว่าแบตเตอรี่น้ำ
- ราคาถูกกว่าแบตเตอรี่แห้ง
ข้อเสียของแบตเตอรี่กึ่งแห้ง
- แม้จะมีการป้องกันการระเหยของน้ำกลั่นเป็นอย่างดี แต่ผู้ใช้รถก็ยังต้องคอยเติมน้ำกลั่นอยู่บ้างตามระยะเวลาที่กำหนดไว้
- อายุการใช้งานอาจไม่ยาวนานเท่าแบตเตอรี่น้ำ
- มีราคาที่สูงกว่าแบตเตอรี่น้ำในบางรุ่น
4. แบตเตอรี่ไฮบริด (Hybrid)
แบตเตอรี่ไฮบริด เป็นประเภทแบตเตอรี่ที่ถูกพัฒนาขึ้นจากแบตเตอรี่น้ำ มีโครงสร้างภายในประกอบไปด้วยโลหะผสมระหว่างตะกั่วกับแคลเซียมเฉพาะแผ่นธาตุลบ ทำให้อัตราการระเหยของน้ำกลั่นในแบตเตอรี่ชนิดนี้น้อยกว่าแบตเตอรี่น้ำหลายเท่า เจ้าของรถจึงไม่ต้องเสียเวลาเติมน้ำกลั่นบ่อย เหมาะกับรถที่ใช้งานหนัก ๆ เช่น รถบรรทุก รถโดยสาร หรือรถรับจ้างทั่วไป เป็นต้น
ข้อดีของแบตเตอรี่ไฮบริด
- มีความทนทานสูง ใช้งานได้ยาวนานโดยไม่ต้องเติมน้ำกลั่นบ่อย ๆ
- มีค่า CCA ที่สูงกว่าแบตเตอรี่น้ำ
- ราคาถูกกว่าแบตเตอรี่แห้ง
ข้อเสียของแบตเตอรี่ไฮบริด
- แม้จะใช้งานได้อย่างยาวนาน แต่เจ้าของรถก็ยังต้องคอยเติมน้ำกลั่นตามระยะเวลาที่กำหนดไว้
- มีราคาแพงกว่าแบตเตอรี่น้ำในบางรุ่น
- มักใช้กับรถขนาดใหญ่มากกว่ารถยนต์ธรรมดาทั่วไป
5. แบตเตอรี่เจล (GEL)
แบตเตอรี่เจลเป็นประเภทแบตเตอรี่ที่ถูกพัฒนาขึ้นจากแบตเตอรี่ชนิดตะกั่วกรด สามารถกักเก็บพลังงานไฟฟ้าได้ดีกว่าแบตเตอรี่ทั่วไปถึง 20% มีคุณสมบัติและประสิทธิภาพโดยรวมเหนือกว่าแบตเตอรี่น้ำ ทำให้ตัวแบตฯมีราคาที่ค่อนข้างสูงและแพงกว่าพอสมควร แบตเตอรี่ชนิดนี้มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน มีความทนทานสูง ไม่ต้องเติมน้ำกลั่นหรือพึ่งพาการดูแลรักษาอะไรที่ยุ่งยาก
ข้อดีของแบตเตอรี่เจล
- ใช้งานง่าย ไม่ต้องเติมน้ำกลั่น มีขั้นตอนการดูแลรักษาที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน
- กักเก็บพลังงานได้ดีกว่าแบตเตอรี่น้ำและแบตเตอรี่ชนิดอื่น(ในบางรุ่น)
- มีความสามารถในการกระจายความร้อนที่ค่อนข้างสูง
- ทนทานและมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าแบตเตอรี่ทั่วไปหลายเท่า
ข้อเสียของแบตเตอรี่เจล
- แม้จะมีขั้นตอนการดูแลรักษาที่ไม่ยุ่งยาก แต่เจ้าของรถก็ยังจำเป็นต้องหมั่นตรวจเช็กสภาพและทำความสะอาดตัวแบตเตอรี่อย่างสม่ำเสมอ
- มีราคาแพงกว่าแบตเตอรี่น้ำพอสมควร
6. แบตเตอรี่ AGM (Absorbent Glass Mat)
แบตเตอรี่ AGM เป็นแบตเตอรี่ชนิดใยแก้วที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อรองรับระบบรถยนต์ที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยและมีประสิทธิภาพสูงในปัจจุบัน ถือเป็นแบตเตอรี่พร้อมใช้งานที่มีการเติมน้ำกรดและอัดไฟมาให้เรียบร้อยจากโรงงานผลิต ไม่ต้องคอยเติมน้ำกลั่น สามารถจ่ายไฟได้อย่างเสถียรและทำงานได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3-6 ปี เรามักจะพบแบตเตอรี่ชนิดนี้ในรถยุโรปรุ่นใหม่ ๆ เสียเป็นส่วนใหญ่ ราคาของตัวแบตฯจึงค่อนข้างแพงและสูงกว่าแบตเตอรี่ชนิดอื่นพอสมควร
ข้อดีของแบตเตอรี่ AGM
- รองรับเทคโนโลยีทางฝั่งยุโรปเป็นหลัก
- สตาร์ทเครื่องยนต์ได้มากกว่า SMF*5 เท่า
- ไม่ต้องเติมน้ำกลั่นตลอดอายุการใช้งาน
- มีค่าแอมป์และค่า CCA อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง
- สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้อย่างเสถียรและคงที่
- มีความทนทานต่อการคายประจุไฟฟ้าที่สูง ทำให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน
- ชาร์จกระแสไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว ลดเวลาในการชาร์จได้หลายเท่าตัวหากเทียบกับแบตเตอรี่ชนิดอื่น
ข้อเสียของแบตเตอรี่ AGM
- ราคาสูงเมื่อเทียบกับแบตเตอรี่กรดตะกั่วทั่ว ๆ ไป
- ต้องหมั่นตรวจเช็กสภาพแบตเตอรี่อย่างสม่ำเสมอ เพราะหากตัวแบตฯมีปัญหา บางอย่างก็ไม่สามารถซ่อมแซมหรือแก้ไขได้ จำเป็นต้องซื้อและเปลี่ยนแบตฯเป็นลูกใหม่เพียงอย่างเดียว
7. แบตเตอรี่ EFB (Enhance Flood Battery)
แบตเตอรี่ EFB รองรับการใช้งานในสภาพที่มีการชาร์จไฟบางส่วน และไม่จำเป็นต้องใช้คุณลักษณะคายประจุแบบ Deep-cycling ของแบตเตอรี่ AGM เทคโนโลยีนี้ใช้การเพิ่มวัสดุที่เป็นผ้าบางจากเส้นใยโพลีเข้าไปในพื้นผิวของเพลทที่เป็นบวก สิ่งนี้ช่วยสร้างความเสถียรของสารประกอบบนแผ่นธาตุ ซึ่งช่วยเพิ่มความทนทาน
ข้อดีของแบตเตอรี่ EFB
- รองรับเทคโนโลยีทางฝั่งเอเชียเป็นหลัก
- สตาร์ทเครื่องยนต์ได้มากกว่า SMF*3 เท่า
- ไม่ต้องเติมน้ำกลั่นตลอดอายุการใช้งาน
- มีค่าแอมป์และค่า CCA อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง
- สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้อย่างเสถียรและคงที่
- มีความทนทานต่อการคายประจุไฟฟ้าที่สูง ทำให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน
- ชาร์จกระแสไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว ลดเวลาในการชาร์จได้หลายเท่าตัวหากเทียบกับแบตเตอรี่ชนิดอื่น
ข้อเสียของแบตเตอรี่ EFB
- ราคาสูงเมื่อเทียบกับแบตเตอรี่กรดตะกั่วทั่ว ๆ ไป
- ต้องหมั่นตรวจเช็กสภาพแบตเตอรี่อย่างสม่ำเสมอ เพราะหากตัวแบตฯมีปัญหา บางอย่างก็ไม่สามารถซ่อมแซมหรือแก้ไขได้ จำเป็นต้องซื้อและเปลี่ยนแบตฯเป็นลูกใหม่เพียงอย่างเดียว
8. แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน
แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน เป็นแบตเตอรี่ที่ถูกพัฒนาขึ้นให้มีขนาดเล็กและมีประสิทธิภาพการทำงานที่สูงกว่าแบตเตอรี่ชนิดอื่น ๆ สามารถเก็บประจุไฟฟ้าได้นานกว่า มีอัตราการชาร์จที่รวดเร็ว พร้อมจ่ายไฟได้อย่างเสถียรและคงที่ อีกทั้งยังไม่มีส่วนประกอบที่เป็นอันตรายต่อธรรมชาติและมนุษย์ เช่น ของเหลว กรด หรือตะกั่ว เราจึงมักพบแบตเตอรี่ประเภทนี้ในรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเสียเป็นส่วนใหญ่
ข้อดีของแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน
- น้ำหนักเบาเพราะโครงสร้างภายในของตัวแบตฯเป็นโลหะอัลคาไลน์ที่มีน้ำหนักเบาที่สุดในโลก
- อายุการใช้งานยาวนาน
- ให้พลังงานสูง จ่ายไฟได้อย่างคงที่ อีกทั้งยังชาร์จได้รวดเร็ว
- เป็นเซลล์แห้ง ไม่มีส่วนประกอบที่เป็นอันตรายต่อธรรมชาติและมนุษย์
ข้อเสียของแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน
- เป็นแบตเตอรี่ที่ถูกใช้งานในรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเสียเป็นส่วนใหญ่
- ราคาสูงกว่าแบตเตอรี่ชนิดอื่นหลายเท่าตัว